top of page

ขั้นตอนวิธีการทางประวัติศาสตร์

 

1. กำหนดหัวเรื่องที่จะศึกษา

                    เป็นขั้นตอนแรกของวิธีการทางประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องที่นักประวัติศาสตร์หรือผู้สนใจทางประวัติศาสตร์มีความสนใจอยากรู้ สงสัย จึงตั้งประเด็นหรือหัวข้อที่ต้องการศึกษาขึ้นมา

               ตัวอย่าง ประเด็นการศึกษาเกี่ยวกับภูมิภาคอาจเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัว และขยายขอบเขตการศึกษาออกไปเป็นระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับภูมิภาค  เช่น

ประวัติวัดสำคัญในชุมชน / อำเภอ / จังหวัด / ภูมิภาค
สถานที่สำคัญในท้องถิ่น / จังหวัด / ภูมิภาค
บุคคลสำคัญในท้องถิ่น / จังหวัด / ภูมิภาค

 

2. การรวบรวมหลักฐาน

                 ขั้นรวบรวมหลักฐานต่างๆ ทั้งหลักฐานชั้นต้นและหลักฐานชั้นรอง  คือ เอกสารหรือหนังสือเกี่ยวกับเรื่องที่อยากรู้หรือสนใจ

             ในการรวบรวมหลักฐาน  ควรเริ่มด้วยการศึกษาหลักฐานชั้นรองโดยตรงก่อน เพื่อให้เข้าใจและมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการศึกษา  และรวบรวมความคิดของผู้ที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวมาก่อน  แล้วจึงไปค้นคว้าจากหลักฐานชั้นต้น  ซึ่งจะทำให้ได้รายละเอียดมากขึ้นและอาจมีแนวคิดเพิ่มเติมขึ้นจากผู้ศึกษาไว้แต่เดิม

 

3. การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของหลักฐาน

              เป็นการประเมินความถูกต้องและความสำคัญของหลักฐาน เพราะหลักฐานบางอย่างอาจเป็นของปลอม หรือเลียนแบบของเก่า  หรือเขียนโดยบุคคลที่ไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์โดยตรง  แล้วมาบันทึกไว้เสมือนได้รู้เห็นเอง  หรือแม้จะรู้เห็นเหตุการณ์โดยตรง  แต่อาจมีความลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ไม่วางตัวเป็นกลาง

 

            การวิเคราะห์หลักฐานแบ่งเป็น  2  วิธี  ดังนี้
            1. การประเมินภายนอก  เป็นการประเมินหลักฐานจากสภาพที่ปรากฏภายนอกว่าเป็นของแท้  ถูกต้องตามยุคสมัยหรือไม่  เช่น  กระดาษที่บันทึกเป็นของเก่าจริงหรือไม่  สมัยนั้นมีกระดาษแบบนี้ใช้หรือยัง  วัสดุที่ใช้เขียนเป็นของร่วมสมัยหรือไม่

            2. การประเมินภายใน เป็นการประเมินหลักฐานว่าถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ เช่น การกล่าวถึงตัวบุคคล สถานที่ เหตุการณ์ว่าถูกต้อง มีจริงในยุคสมัยของหลักฐานนั้นหรือไม่ หรือแม้แต่สำนวนภาษาว่าในสมัยนั้นใช้กันหรือยัง

 

4. การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และการจัดหมวดหมู่ข้อมูล

             เป็นขั้นตอนต่อจากที่ได้รวบรวมหลักฐาน  และวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือนั้นๆแล้ว ข้อมูล คือเรื่องราวต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในหลักฐานที่รวบรวมและวิเคราะห์แล้วจากหลักฐานที่เชื่อถือได้  จากนั้นจึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์  คือ แยกประเภท โดยเรียงเหตุการณ์ ตามลำดับเวลาก่อนหลัง เพราะความสำคัญของข้อมูล แล้วทำการสังเคราะห์ คือจัดเหตุการณ์  เรื่องเดียวกัน  และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันไว้ด้วยกัน  และศึกษาความต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อเหตุการณ์

 

5. การเรียบเรียงหรือการนำเสนอ

           เป็นการเรียบเรียงข้อมูลที่ได้ค้นคว้า  วิเคราะห์ และสังเคราะห์มาแล้ว เพื่อนำเสนอข้อมูลในลักษณะที่เป็นการตอบหรืออธิบายความอยากรู้  ข้อสงสัย  ตลอดจนความรู้ใหม่ ความคิดใหม่ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้านั้น ในรูปแบบการเขียนรายงานอย่างมีเหตุผล

 

 

 

bottom of page